ปภ.แจ้ง 49 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19 – 23 ต.ค. 67
วันนี้ (18 ต.ค. 67) เวลา 14.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 49 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19 – 23 ต.ค. 2567 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสม พร้อมเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัดอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 3 (226/2567) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันออก อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 17/2567 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2567 คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2567 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง
– ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
– ภาคกลาง ทุกจังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
– ภาคกลาง 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.เมืองฯ ด่านมะขามเตี้ย พนมทวน ท่ามะกา) ราชบุรี (อ.เมืองฯ สวนผึ้ง จอมบึง บ้านคา โพธาราม บ้านโป่ง) ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ ประจันตคาม กบินทร์บุรี นาดี) สระแก้ว (อ.เมืองฯ อรัญประเทศ) ฉะเชิงเทรา (อ.ท่าตะเกียบ สนามชัยเขต) ชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา บางละมุงสัตหีบ) ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านค่าย ปลวกแดง นิคมพัฒนา) จันทบุรี (อ.เมืองฯ ขลุง ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ มะขาม) ตราด (อ.เมืองฯ บ่อไร่ เขาสมิง คลองใหญ่ แหลมงอบ) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน) ประจวบคีรีขันธ์ (อ.ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย) นนทบุรี (อ.เมืองฯ ปากเกร็ด บางบัวทอง บางกรวย) นครปฐม (อ.เมืองฯ กำแพงแสน ดอนตูม นครชัยศรี พุทธมณฑล สามพราน) สมุทรสาคร (อ.เมืองฯ บ้านแพ้ว กระทุ่มแบน) สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ พระสมุทรเจดีย์ พระประแดง บางพลี บางบ่อ บางเสาธง) และกรุงเทพมหานคร (เขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก คลองสาน ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี บางคอแหลม สาทร ยานนาวา บางแค ราษฎร์บูรณะ หนองแขม ภาษีเจริญ บางบอน จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน)
– ภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อ.เมืองฯ สวี ทุ่งตะโก หลังสวน พะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ กาญจนดิษฐ์ พนม บ้านนาสาร บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก เกาะสมุย) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร) พัทลุง (อ.เมืองฯ ควนขนุน) สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ระโนด นาทวี สิงหนคร หาดใหญ่ รัตภูมิ) ปัตตานี (อ.เมืองฯ แม่ลาน กะพ้อ ทุ่งยางแดง ไม้แก่น ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ หนองจิก) ยะลา (ทุกอำเภอ) นราธิวาส (ทุกอำเภอ) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.ตะกั่วป่า กะปง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) ตรัง (อ.เมืองฯ ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 49 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเจ้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงให้ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป //////////
#ปภ #ข่าว #แจ้งเตือน #ฝนฟ้าคะนอง #ลมกระโชกแรง #น้ำท่วมฉับพลัน #น้ำป่าไหลหลาก #น้ำท่วมขัง #ดินถล่ม #น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ #น้ำล้นตลิ่ง
สายด่วน 1784
FB : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM
Twitter @DDPMNews
Line @1784DDPM
YouTube DDPMNews รู้ทันภัยกับ ปภ.